น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สุดยอดจอมเตะสาว ผงาดคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ในกีฬาเทควันโดของไทย มาครองได้สำเร็จ หลังเอาชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส จอมเตะชาวสเปนวัย 17 ปี เจ้าของตำแหน่งแชมป์ยุโรป ซึ่งนี่ถือเป็นเหรียญทองแรกในโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ ที่ญี่ปุ่น
โดยย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน สาวเทนนิส ต้องผิดหวังต่อความพ่ายแพ้ให้กับนักกีฬาจากเกาหลีใต้ ในรอบ 8 คนสุดท้าย ก่อนจะคว้าเหรียญทองแดงไปครอง ในโอลิมปิก 2016 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
และในที่สุดเธอก็ทำได้สำเร็จ ผงาดคว้าเหรียญทองที่ 10 ให้กับนักกีฬาไทย ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์
และนี่คือทำเนียบ 10 เหรียญทองของประเทศไทยในการแข่งขันกีฬา โอลิมปิกเกมส์
ซึ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีโปรแกรมให้ประเทศไทยได้ลุ้นเหรียญทองกันต่อเนื่อง อย่าลืมส่งแรงใจไปเชียร์ทัพนักกีฬาของไทยกันต่อ
-
สมรักษ์ คำสิงห์ (มวยสากลสมัครเล่น) – 1996
ปี พ.ศ. 2538 สมรักษ์ คำสิงห์ เจ้าของวลีเด็ด ไม่ได้โม้ คว้าเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยในรอบชิงชนะเลิศเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5
-
วิจารณ์ พลฤทธิ์ (มวยสากลสมัครเล่น) – 2000
ปี พ.ศ. 2543 วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักฉกเจ้าของฉายา อิ๊กคิวซัง คว้าเหรียญทองที่สองให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ในโอลิมปิกครั้งที่ 27 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
โดย วิจารณ์ พลฤทธิ์ ถือเป็นม้ามืดในการแข่งขันครั้งนั้นอีกด้วยเนื่องจากมีประสบการณ์น้อยมาก ซึ่งตัวเต็งในเวลานั้นคือ สมรักษ์ คำสิงห์ แต่ทว่า สมรักษ์ ได้ตกรอบ 2 ไปก่อน โดยแพ้ ร็อกกี ฮัวเรซ นักมวยชาวอเมริกัน
สำหรับ วิจารณ์ หลังได้เหรียญทองแล้ว ก็ตัดสินใจแขวนนวมทันที
-
อุดมพร พลศักดิ์ (ยกน้ำหนัก) – 2004
ปี พ.ศ. 2547 อุดมพร พลศักดิ์ คว้าเหรียญทองที่ 3 ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง โดยเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก โดยได้จากการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ในประเภทกีฬายกน้ำหนักรุ่นไม่เกิน 53 กก
และอย่างที่หลายท่านทราบกันดีก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก น้องอรตะโกนคำว่า “สู้โว้ย” ออกมาดัง ๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนกีฬาชาวไทย คำว่าสู้โว้ยจึงเป็นวลีติดปากของคนไทย
-
ปวีณา ทองสุก (ยกน้ำหนัก) – 2004
ในปี พ.ศ. 2547 เดียวกัน ปวีณา ทองสุก ก็สามารถคว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ในกีฬายกน้ำหนักในรุ่นน้ำหนัก 75 กิโลกรัม
ซึ่งในปีดังกล่าว ปวีณา ทองสุก เคยสร้างสถิติยกได้มากถึง 142 ก.ก. เป็นการทำลายสถิติโลกของ สเวตลานา ชิมโคว่า ในเวลานั้นอีกด้วย
-
มนัส บุญจำนงค์ (มวยสากลสมัครเล่น) – 2004
เท่านั้นยังไม่พอปี พ.ศ. 2547 ถือเป็นปีทองของไทยในกีฬาโอลิมปิก เนื่องจากคว้ามาได้ถึง 3 เหรียญทองมากที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยเหรียญที่ 3 มาจาก มนัส บุญจำนง นักกีฬามวยสากลสมัตรเล่น นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 ที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิก และเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นคนที่ 3 ต่อจากสมรักษ์ คำสิงห์ และวิจารณ์ พลฤทธิ์
สำหรับ มนัส ถือเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นของไทย ที่ฝีไม้ลายมือดีมากเลยทีเดียว โดยปี 2008 เจ้าตัวยังทะลุไปถึงรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง น่าเสียดายที่พลาดท่าแพ้ไปได้เหรียญเงินมาครอง โดยถือมนัสเป็นนักกีฬาไทยคนแรก ที่สามารถคว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกสองสมัยติดต่อกัน
-
ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล (ยกน้ำหนัก) – 2008
ปี พ.ศ. 2551 ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล หรือ น้องเก๋ คว้าเหรียญทองที่ 5 ให้กับประเทศไทย ประเภทกีฬายกน้ำหนัก โดยเข้าแข่งขันใน รุ่น 53 กิโลกรัม ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน
-
สมจิตร จงจอหอ (มวยสากลสมัครเล่น) – 2008
อีกหนึ่งเหรียญทองในปี พ.ศ. 2551 จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น เป็นทางด้านของ สมจิตร จงจอหอ โดยในรอบชิงชนะเลิศเอาชนะอันดริส ลาฟฟิตา นักมวยชาวคิวบา
-
โสภิตา ธนสาร (ยกน้ำหนัก) – 2016
ปี พ.ศ. 2559 โสภิตา ธนสาร นักยกน้ำหนักหญิง กลับมาคว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยได้อีกครั้งหลังทิ้งช่วงไปนานเกือบ 8 ปี ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ ริโอเดอจาเนโร ประเทศ บราซิล
-
สุกัญญา ศรีสุราช (ยกน้ำหนัก) – 2016
ในปีเดียวกัน สุกัญญา ศรีสุราช นักยกน้ำหนักหญิงก็สามารถคว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ในประเภทกีฬายกน้ำหนักรุ่น 58 กิโลกรัม
สำหรับ สุกัญญา ศรีสุราช เธอเคยถูกต้องโทษเนื่องจากการใช้สารกระตุ้นประเภท Metandienone อีกด้วย
-
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทควันโด) – 2020
มาถึงเหรียญทองล่าสุดของไทยเป็นเหรียญทองที่ 10 ในประวัติศาสตร์ จากน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในประเภทกีฬาเทควันโด โดยเอาชนะอาเดรียน่า เซเรโซ่ อิเกลเซียส จากสเปน 11-10 แต้ม
ไฮไลท์บอล : อิตาลี 1-1 อังกฤษ (อิตาลี ชนะจุดโทษ 3-2) [ยูโร 2020]