สมาชิกรัฐสภาจากเมือง เชฟฟิลด์ ได้แสดงความกังวลต่ออนาคตของ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ต่อที่ประชุม สภาสามัญชน หลังจากร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลผ่านขั้นตอนสำคัญในกระบวนการนิติบัญญัติ
นักการเมืองจาก เชฟฟิลด์ หลายรายได้เข้าร่วมการประชุมร่วมกับผู้แทนจากเมือง เรดดิ้ง เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารือก่อนการประท้วงของแฟนบอลที่มีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งสะท้อนความไม่พอใจต่อการบริหารทีมของ เดชพล จันศิริ และหลังการประชุม พวกเขาได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนสิทธิของแฟนบอลในการแสดงออก พร้อมย้ำถึง “ความกังวลที่ชอบธรรม” ต่ออนาคตของสโมสร
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไคลฟ์ เบตส์ ส.ส.เขต เชฟฟิลด์ เซาท์อีสต์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายใน สภาสามัญชน ถึงความสำคัญของร่างกฎหมาย “การกำกับดูแลวงการฟุตบอล” ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นที่สอง และเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ โดยผลโหวตเห็นชอบมีจำนวน 342 เสียง ขณะที่เสียงไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 70 เสียง
ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานอิสระกำกับดูแลฟุตบอล ซึ่งจะมีอำนาจในการวางโครงสร้างเพื่อป้องกันการบริหารสโมสรที่ผิดพลาดทั่วประเทศ พร้อมกำหนดให้เจ้าของสโมสรเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน รวมถึงแผนธุรกิจและศักยภาพในการสนับสนุนสโมสร หากกฎหมายผ่าน ทุกสโมสรจะต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้จึงจะสามารถขอใบอนุญาตลงแข่งขันได้
คุณเบตส์ ซึ่งเป็นแฟนบอล เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ มาตลอดชีวิต เป็นหนึ่งในหกนักการเมืองที่ได้พบกับกลุ่ม Sheffield Wednesday Supporters Trust เพื่อหารือเกี่ยวกับความกังวลด้านอนาคตนอกสนามของสโมสร โดยมีแฟนบอลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ต้องการให้ เดชพล จันศิริ ขายสโมสร
โดยอาศัยสิทธิพิเศษของสมาชิกสภาในการพูดในสภาโดยไม่ถูกดำเนินคดี คุณเบตส์ ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเงินทุนของ เดชพล อาจมาจาก “ทรัสต์ของครอบครัว” และยังได้กล่าวถึงประเด็นการแยกกรรมสิทธิ์ของสนาม ฮิลส์โบโรห์ ออกจากตัวสโมสร พร้อมสนับสนุนให้กฎหมายนี้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะเดียวกันกับสโมสรอื่น
“เห็นชัดว่าใกล้หมดเงินแล้ว”
คุณเบตส์ กล่าวต่อสภาว่า “ที่ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เรามีเจ้าของที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร เขาลงทุนกับสโมสรมากมาย แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าเขากำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เขาไม่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะได้ในเดือนที่ผ่านมา และก็ยังค้างภาษีอีกหลายสัปดาห์ก่อน หากยังล้มเหลวในการชำระอีกครั้ง สโมสรจะถูกแบนจากการซื้อขายนักเตะถึงสามช่วงตลาด”
“มันบ่อนทำลายทั้งความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางการเงินของสโมสรอย่างชัดเจน และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้เลย ประธานสโมสรเป็นกรรมการเพียงคนเดียว ไม่มีคณะกรรมการ ไม่มีผู้บริหาร และเขาบริหารทีมจาก ประเทศไทย ด้วยการควบคุมระยะไกล”
“เมื่อเขาไม่สามารถจ่ายบิลได้ เขาอ้างว่า ‘บริษัทของผมยังไม่ได้รับเงิน จึงไม่มีเงินมาจ่ายให้สโมสร’ — เราไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นในประเทศไทยคืออะไร เพราะดูเหมือนไม่มีบริษัทไหนที่สร้างรายได้ เราสงสัยว่าเงินที่ใช้มาจากทรัสต์ของครอบครัวที่เป็นเจ้าของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง John West และอื่น ๆ”
“พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาพึ่งพาเงินจากครอบครัวในการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนเลย”
คุณเบตส์ กล่าวต่อว่า “กฎหมายนี้ที่กำหนดให้เจ้าของต้องแสดงที่มาของเงินอย่างโปร่งใส เพื่อยืนยันว่ามีความสามารถในการดูแลสโมสรได้นั้น สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่กับ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ แต่กับทุกสโมสรในอังกฤษ”
“มันช่างเหลวไหล”
ส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้มีโครงสร้างเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการมีส่วนร่วมของแฟนบอล ซึ่งในกรณีของ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างมากในโลกออนไลน์ช่วงที่ผ่านมา โดย คุณเบตส์ ชี้ว่ารูปแบบปัจจุบันยังไม่ผ่านเกณฑ์ของกฎหมายใหม่
เขากล่าวว่า “นี่คือร่างกฎหมายที่จะช่วยฟุตบอลได้อย่างแท้จริง และเปิดทางให้แฟนบอลมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบและสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับสโมสร”
“ที่ ฮิลส์โบโรห์ ก็มีคณะทำงานแฟนบอลนะ แต่เป็นประธานสโมสรที่เลือกว่าใครจะได้เข้า และคนที่เข้าไปต้องเซ็นสัญญาว่าห้ามพูดเรื่องที่ถกเถียงกันในที่ประชุมออกไปข้างนอก แบบนี้จะเรียกว่าโปร่งใสได้ยังไง? มันช่างเหลวไหลสิ้นดี”
ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจาก เดชพล จันศิริ ล้มเหลวในการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะประจำเดือนมีนาคม ทำให้สโมสรเสี่ยงต่อการถูกแบน 3 ช่วงตลาดเพราะค้างจ่ายทั้งกับนักเตะและ กรมสรรพากรอังกฤษ เกิน 30 วัน โดยแม้เขาจะออกมาขอโทษผ่านบทสัมภาษณ์กับสื่อ The Star แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ในแถลงการณ์ต่อมา คุณเบตส์ กล่าวว่า “โครงสร้างแบบพีระมิดในวงการฟุตบอลอังกฤษเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ แต่จำเป็นต้องมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะจาก พรีเมียร์ลีก ที่ร่ำรวยมหาศาล ควรแบ่งปันแก่ลีกล่างให้มากกว่านี้”
“พฤติกรรมของเจ้าของ เวนส์เดย์ ไม่ใช่กรณีเดียว ยังมีอีกหลายสโมสรในอังกฤษที่เผชิญปัญหาเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลอังกฤษต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ และต้องมีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดกว่าเดิม”